มัลติมีเดีย เป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาให้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว มัลติมีเดียเป็นเทคโนโลยีที่ใช้คอมพิวเตอร์แสดงผลในลักษณะการผสมของสื่อหลายชนิดเข้าด้วยกัน ทั้งตัวอักษร รูปภาพ เสียง ภาพเคลื่อนไหว วิดิโอ โดยเน้นการโต้ตอบและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้
มัลติมีเดียจึงต้องการช่องสัญญาณสื่อสารที่มีแถบกว้างสูง รองรับการทำงานแบบสองทิศทาง โดยเน้นการย่นย่อระยะทางจากที่ไกล ๆ ให้เสมือนอยู่ชิดใกล้ โต้ตอบกันได้อย่างรวดเร็ว
มัลติมีเดียมีองค์ประกอบที่สำคัญอยู่สี่ประการ ประการแรกคือต้องมีคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ทำให้เราเห็นหรือได้ยิน และสามารถโต้ตอบมีปฏิสัมพันธ์ได้ ประการที่สองคือมีการเชื่อมโยงสื่อสารเพื่อทำให้สื่อต่าง ๆ ไหลเข้ามาเชื่อมโยงเกี่ยวกันและนำเสนอออกไปได้ ประการที่สามต้องมีเครื่องมือที่ทำให้เราท่องไปในเครือข่ายที่เชื่อมโยงข่าวสารต่าง ๆ ประการสุดท้ายคือ มัลติมีเดียต้องเปิดช่องทางให้เราในฐานะผู้ใช้ สามารถสร้าง ประมวลผล และสื่อสารข่าวสารต่าง ๆ ได้
หากขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไป ก็ไม่สามารถเรียกว่า มัลติมีเดียได้ เช่น ถ้าขาดคอมพิวเตอร์ที่จะทำให้เรามีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบได้ สิ่งนั้นก็จะไม่ใช่มัลติมีเดีย แต่น่าจะเรียกว่า การแสดงสื่อหลายสื่อ ถ้าขาดการเชื่อมโยงสื่อสาร ก็เหมือนกับเป็นชั้นหนังสือ ถ้าขาดเครื่องมือหรือซอฟต์แวร์ที่ทำให้ท่องไป หรือให้เรามีส่วนเข้าไปปฏิสัมพันธ์ด้วย ก็จะเหมือนกับดูภาพยนตร์ และถ้าขาดช่องทางที่ให้ผู้ใช้เข้ามีส่วนร่วมได้ ก็จะเหมือนกับโทรทัศน์
มัลติมีเดียจึงเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีหลายอย่างที่ประกอบกัน ทั้งเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ และระบบสื่อสารข้อมูล การพัฒนาของเทคโนโลยีเหล่านี้ต้องพัฒนาให้ก้าวหน้าในทุกทิศทาง
มัลติมีเดียประกอบด้วยเทคโนโลยีการสร้างและประมวลผลวิดิโอ ภาพเคลื่อนไหว เสียง ข้อความ ที่ผสมกับภาพ และเมื่อมีการสื่อสารร่วมด้วยระบบสื่อสารข้อมูลจึงต้องการแถบกว้างทางการสื่อสารที่สูง และให้มีการรับส่งข้อมูลได้เร็ว
ลองนึกดูว่า หากต้องการส่งหรือรับข้อมูลแบบมัลติมีเดีย ภาพเคลื่อนไหวก็ดี เสียงก็ดี จะต้องมีความต่อเนื่อง จะขาดหายเป็นช่วง ๆ ไมได้ คุณภาพของระบบมัลติมีเดียจึงเกี่ยวโยงกับระบบสื่อสาร
เทคโนโลยีมัลติมีเดียจึงอยู่ที่การประมวลผลข้อมูล ซึ่งต้องมีความรวดเร็วสูงมาก ปัจจุบันซีพียูของคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่ได้พัฒนาไปจนสามารถประมวลผลข้อมูลเหล่านี้ได้ทัน
สิ่งที่สำคัญตามมาคือ เทคโนโลยีการบีบอัดข้อมูล ข้อมูลวิดิโอก็มีเทคนิคการบีบอัดที่เป็นมาตรฐาน เช่น MPEG ข้อมูลเสียงก็มีเทคนิคการบีบอัดเป็น MIDI เป็นเสียงพูดที่บีบอัดด้วย ADPCM หรือแม้แต่รูปภาพก็บีบอัดเป็น GIF หรือ JPEG เป็นต้น การบีดอัดทำให้รับส่งข้อมูลได้เร็วขึ้น และยังเก็บที่ที่เก็บที่ความจุลดลง
สำหรับระบบสื่อสารข้อมูลก็ต้องมีการรับประกันการบริการ กล่าวคือ การรับส่งข้อมูลระหว่างต้นทางและปลายทาง ข้อมูลที่ส่งมีลักษณะเป็นสายธาร ดังนั้นข้อมูลจะต้องถึงปลายทางตามกำหนดเวลา และให้รูปแบบที่ต่อเนื่องได้
พัฒนาการของระบบเครือข่ายข้อมูลข่าวสารจึงต้องได้รับการพัฒนาให้รองรับในระบบสื่อสารข้อมูลทั่วไป เราแบ่งแยกการรับส่งเป็นสองแบบ คือ โปรโตคอลที่เชื่อมโยง (Connection Protocol) และโปรโตคอลที่ไม่เชื่อมโยง (Connectionless Protocol)
โปรโตคอลที่เชื่อมโยงหมายถึง ก่อนการรับส่งสายธารของข้อมูลจริง จะต้องมีการ ตรวจสอบ สำรวจหาเส้นทาง เพื่อให้ตัวรับและตัวส่งเชื่อมโยงกันให้ได้ก่อน จากนั้นสายข้อมูลจึงจะไหลไปตามการเชื่อมโยงนั้น ส่วนโปรโตคอลที่ไม่เชื่อมโยง อาศัยการส่งแพ็กเก็ตข้อมูลที่มีการกำหนดแอดเดรสไว้บนแพ็กเก็ต อุปกรณ์สื่อสารบนเส้นทางจะส่งต่อกันไปจนถึงปลายทางได้เอง
ความต้องการใช้มัลติมีเดียบนเครือข่ายจึงต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ ให้ใช้งานได้ พัฒนาการจึงต้องรองรับการประยุกต์ใช้งานต่าง ๆ ที่มีอยู่บนเครือข่าย ซึ่งนับวันจะมีความต้องการสูงมากยิ่งขึ้นต่อไป
เริ่มจากการสื่อสารแบบบรอดคาส (Broadcast) กล่าวคือ สถานีบริการหนึ่งสามารถส่งกระจายข่าวสารมัลติมีเดียไปให้กับผู้ขอใช้บริการ (client) ได้ทุกเครื่องบนเครือข่ายในขณะเดียวกัน เช่นถ้า เชิร์ฟเวอร์เป็นสถานีบริการทีวี ก็จะกระจายไปยังผู้ชมที่อยู่บนเครือข่ายได้ทุกคน เป้าหมายที่สำคัญต่อมาคือ ต้องการให้ผู้ชมมีปฏิสัมพันธ์ได้ หรือโต้ตอบกลับได้ ถ้าเป็นเช่นนี้ ผู้ชมสามารถร่วมเล่นเกมโชว์จากทางบ้านได้
การสื่อสารแบบยูนิคาส หรือพอยต์คาส (unicast or pointcast) เป็นการกระจายข่าวสารจากเชิร์ฟเวอร์ไปยังไคลแอนต์ในลักษณะเจาะจงตัวเป็นแบบหนึ่งเดียว เช่น เชิร์ฟเวอร์เป็นสถานีบริการข่าว ผู้ใช้อยู่ที่บ้านต้องการรับข่าวสารก็สามารถบอกรับ โดยเลือกหัวข้อข่าวสารต่าง ๆ ตามที่ตนเองสนใจ เมื่อเชิร์ฟเวอร์มีข่าวใหม่ในหัวข้อที่ผู้ใช้คนใดสนใจก็จะติดต่อส่งข่าวสารมาให้
การสื่อสารแบบมัลติคาส (multicast) การสื่อสารแบบนี้แตกต่างจากแบบบรอดคาสอยู่บ้าง เพราะบรอดคาสกระจายข่าวสารทั่วทั้งเครือข่าย แต่มัลติคาสกระจายแบบเจาะจงไปยังผู้ใช้ตามที่ได้เรียกขอมา
หากพิจารณาดูว่ามีข่าวสารแบบมัลติมีเดียอยู่มากมายวิ่งอยู่บนเครือข่าย มีการประยุกต์ใช้งานต่าง ๆ มากมาย ตั้งแต่ทีวีบอกรับ การให้บริการข่าวหนังสือพิมพ์ การให้บริการคาราโอเกะ การเรียนการสอนทางไกล การบริการทางการแพทย์ การซื้อขายของบนเครือข่าย ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ต้องใช้เทคโนโลยีมัลติมีเดียและเครือข่ายทั้งสิ้น
สายข้อมูลที่วิ่งบนเครือข่ายคงต้องการแถบกว้างของระบบสื่อสารอีกมาก ต้องการโครงสร้างพื้นฐานการเชื่อมโยงที่รองรับการให้บริการต่าง ๆ เหล่านี้ ลองนึกดูว่า สถานีบริการวิทยุ (real audio) หรือบริการทีวี (real video) ต้องส่งสายข้อมูลไปให้ผู้ใช้จำนวนมากบนเครือข่าย จะทำให้เกิดปัญหาความซ้ำซ้อนของสายข้อมูล ปัญหานี้สามารถลดได้ด้วยการส่งสายข้อมูลเพียงสายเดียวในเครือข่าย อุปกรณ์สวิตชิ่งจะต้องส่งกระจายไปหลายที่ตามที่ผู้ใช้ต้องกรได้เอง ลักษณะการส่งกระจายบนเครือข่ายแบบนี้เรียกว่า มัลติคาสแบ็กโบน (MBONE – Multicast Backbone)
เทคนิคของระบบสื่อสารข้อมูลบนเครือข่ายยังคงต้องพัฒนาต่อไปอีกมาก เพื่อรองรับกระแสการประยุกต์ใช้มัลติมีเดียที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และพัฒนาการที่จะสร้างระบบจำลองบนไซเบอร์สเปซ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกมาก
โลกในเครือข่ายหรือไซเบอร์สเปซ จึงฝากไว้กับการพัฒนาเทคโนโลยี

http://web.ku.ac.th/schoolnet/snet1/network/it1.htm

http://www.multimedia851.ob.tc/

เทคโนโลยีสื่อประสม

Posted: มิถุนายน 18, 2010 in Uncategorized

ความหมายของคำว่าสื่อประสม 

จากนิยามของสื่อประสม ที่รวบรวมจากหลายแหล่ง พบว่ามีการให้นิยามที่คล้ายกันดังนี้ “สื่อประสมคือ การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อแสดงและนำเสนอในรูปข้อความ รูปภาพ เสียง วีดิทัศน์ โดยเชื่อมโยงกับอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้เพื่อการท่องไปในเนื้อเรื่อง การมีปฏิสัมพันธ์ การสร้าง และการสื่อสาร

1.2 เทคโนโลยีสื่อประสม

เนื่องจากมัลติมีเดีย เป็นเทคโนโลยีของสื่อหลากหลายสื่อ ซึ่งสามารถแบ่งได้ ดังนี้

เทคโนโลยีเกี่ยวกับเสียง (Audio Technology)

เทคโนโลยีเกี่ยวกับเสียง (Audio Technology) เป็นเทคโนโลยี ที่รวมเสียงพูด เสียงดนตรี ตั้งแต่การประมวลผล การแสดงผล การจัดการต่างๆ เช่น การบีบอัดสัญญาณ การสื่อสาร การส่งสัญญาณ

เทคโนโลยีเกี่ยวกับวีดิโอ (Video Technology)

เทคโนโลยีเกี่ยวกับวีดิโอ (Video Technology) อันได้แก่ การจัดเก็บ การประมวลผล การปรับแต่ง การใช้งาน การเรียกหา สืบค้น การส่งกระจาย มาตรฐานการบีบอัดสัญญาณ การเข้าและถอดรหัส การส่งข้อมูล การทำงานร่วมกับสื่ออื่นๆ

เทคโนโลยีรูปภาพ (Image Technology)

เทคโนโลยีรูปภาพ (Image Technology) เป็นการพัฒนา และประยุกต์ใช้ภาพ การจัดการฟอร์แมต คลังภาพ การค้นหา การสร้าง และตกแต่งภาพ

เทคโนโลยีข้อความ (Text Technology)

เทคโนโลยีข้อความ (Text Technology) เกี่ยวกับข้อความหรือ ตัวอักษร ทั้งการใช้ และลักษณะรูปแบบของ ข้อความแบบต่างๆ

เทคโนโลยีภาพเคลื่อนไหว และภาพสามมิติ (Animation & 3D Technology)

เทคโนโลยีภาพเคลื่อนไหว และภาพสามมิติ (Animation & 3D Technology) เป็นเทคโนโลยีเกี่ยวกับการแสดงผล ด้นภาพเคลื่อนไหว ทั้งแบบ 2 มิติ และ 3 มิติ การสร้างภาพเสมือนจริง (VR – Visual Reality) การสร้าง ตกแต่ง ประมวลผล การใช้งาน

เทคโนโลยีการพัฒนา (Authoring System Technology)

เทคโนโลยีการพัฒนา (Authoring System Technology) คือ เทคโนโลยีที่ได้พัฒนา เพื่อสร้างเครื่องมือสำหรับ งานพัฒนามัลติมีเดีย ในรูปของ ซอฟต์แวร์ช่วย ในการนำข้อมูล เนื้อหา (Content) เข้าไปเก็บตามสื่อรูปแบบต่างๆ ที่วางไว้ เพื่อนำเสนอ เช่น การใช้เครื่องมือต่างๆ หรือการสร้างเครื่องมือใหม่ๆ

เทคโนโลยีกับระบบการศึกษา

เทคโนโลยีกับระบบการศึกษา เป็นการศึกษาเพื่อนำเอา เทคโนโลยีมัลติมีเดีย มาประยุกต์ใช้กับ ระบบการศึกษา ในรูปของ CAI – Computer Aided Instruction, CBT – Computer Based Training ตลอดจนงานประชาสัมพันธ์ โฆษณา สร้างภาพยนตร์

เทคโนโลยีการผลิต (Publishing Technology)

เทคโนโลยีการผลิต (Publishing Technology) เป็นการนำเอามัลติมีเดีย มาใช้ด้านงานพิมพ์ เพื่อเพิ่มชีวิตชีวาให้กับงานพิมพ์ มีรูปแบบที่โดดเด่น และนำเสนอ หรือพิมพ์ลงสื่อได้หลากรูปแบบ เช่น งาน DTP – Desktop Publishing, CD-ROM Title & Publishing

เทคโนโลยีการกระจาย (Broadcasting & Conferencing)

เทคโนโลยีการกระจาย (Broadcasting & Conferencing) เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ข้อมูล เผยแพร่สัญญาณ เช่น Conference, Multicasting Backbone เป็นต้น

เทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูล (Storage Technology)

เทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูล (Storage Technology) เนื่องด้วยข้อมูลด้านมัลติมีเดีย มักจะมีขนาดโต ทำให้ต้องเกี่ยวข้องกับสื่อบันทึกข้อมูลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งเกี่ยวกับรูปแบบของสื่อ รูปแบบการบีบอัดข้อมูล รูปแบบการบันทึกข้อมูล

เทคโนโลยี WWW & HyperText

เทคโนโลยี WWW & HyperText โดยจะช่วยให้เกิดการเผยแพร่สื่อมัลติมีเดียในรูปแบบที่นิยมมากที่สุด และเร็วที่สุด ผ่านระบบ WWW และมีระบบโต้ตอบด้วยเทคโนโลยี HyperText & HyperMedia

เทคโนโลยีคลังข้อมูล (Media Archives)

เทคโนโลยีคลังข้อมูล (Media Archives) เกี่ยวกับการจัดเก็บข้อมูลปริมาณมากๆ และการเรียกค้นภายหลัง เช่น Photo & Image Server, AVI archives

เทคโนโลยีที่กล่าวมาข้างต้น เป็นส่วนประกอบที่สำคัญกับเทคโนโลยีมัลติมีเดีย ซึ่งจะช่วยให้เทคโนโลยีมัลติมีเดีย มีคุณค่า และเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง

1.3 องค์ประกอบของเทคโนโลยีสื่อประสม

การนำเสนอแบบสื่อประสม หมายถึงการนำเอาความคิด เนื้อหาสาระที่ต้องการแสดงผล ออกแสดงด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ที่มีองค์ประกอบเพื่อช่วยในการนำเสนอแบบสื่อประสม เพื่อให้สิ่งที่แสดงผลนั้นน่าดู และสามารถสื่อความเข้าใจต่างๆ ได้ง่าย

หากจะพิจารณาถึงเนื้อหาทั่วๆ ไป เช่นการนำเสนอเรื่อง อะเมซิ่งไทยแลนด์ (Amazing Thailand) ผู้นำเสนออาจเตรียมเนื้อหาที่ต้องการนำเสนอ ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศไทย สถานที่ท่องเที่ยว ทิวทัศน์ที่สวยงาม วัฒนธรรมประเพณีของไทย อาหารการกิน ตลอดจนวิถีชีวิตบางอย่างเกี่ยวกับคนไทย ในการนำเสนอมีได้หลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การนำเนื้อหาเหล่านั้นมาพิมพ์เป็นหนังสือเอกสารเผยแพร่ มาสร้างเป็นวีดิทัศน์ หรืออาจสร้างเป็นบทการนำเสนอด้วยคอมพิวเตอร์แบบสื่อประสม การนำเสนอด้วยเทคนิควิธีการต่างๆ ก็เพื่อให้เป็นสื่อที่น่าสนใจ น่าติดตาม ผู้ชมมีความประทับใจ สามารถสื่อความในเรื่องเนื้อหาต่างๆ ได้ดี การนำเสนอแบบสื่อประสม จึงเป็นวิธีการหนึ่งที่ใช้รูปแบบการนำเสนอ โดยมีคอมพิวเตอร์ช่วยดำเนินการแสดงผลให้ โดยเน้นทั้งภาพ ทั้งเสียง หรือแม้แต่การโต้ตอบ รูปแบบที่ได้กล่าวถึงวิธีการสร้างสื่อประสมเพื่อนำเสนอ แสดงได้ดังรูป

ประกอบของเทคโนโลยีสื่อประสม

ในส่วนขององค์ประกอบดังกล่าว สามารถขยายตามองค์ประกอบของสื่อประสม ในส่วนของเนื้อหาที่จะสร้างให้อยู่ในรูปที่นำไปประมวลผลได้ คือส่วนที่ 4 และ 5 ดังนี้

ข้อความ (Text)

ข้อความ (Text) เป็นส่วนที่มีความเกี่ยวข้องในเนื้อหาของสื่อประสมเสมอ และเป็นหนทางการนำเสนอได้ง่ายที่สุด และมีการพัฒนามาพร้อมกับคอมพิวเตอร์ ลักษณะของข้อความที่ปรากฏในสื่อประสม ประกอบด้วย

  • ข้อความที่พิมพ์ เป็นข้อความเอกสารที่พิมพ์ออกมาในรูปกระดาษ เป็นผลงานของงานพิมพ์เอกสารทั่วไป เช่น งานเวิร์ดโปรเซสเซอร์ ตัวอักษรแต่ละตัวเก็บในรูปแบบรหัส เช่น รหัส ASCII
  • ข้อความสแกน เป็นเอกสารที่ได้รับจากการสแกน และเป็นข้อความที่เก็บในรูปแบบรูปภาพ หรือ Image
  • ข้อความอิเล็กทรอนิกส์ เป็นการแทนข้อความให้อยู่ในรูปที่แทนในสื่อที่ใช้ประมวลผลได้
  • ข้อความหลายมิติ (Hypertext) มีบทบาทสำคัญมากในยุคหลังนี้ เพราะเป็นข้อความที่เก็บในรูปข้อความอิเล็กทรอนิกส์ และมีการเชื่อมโยงกัน สามารถนำมาประมวลผลและแสดงผลในลักษณะเชื่อมโยงกันได้ จึงเหมาะกับผู้ใช้

ภาพ (Graphics)

เป็นส่วนของสื่อประสมที่ใช้ประโยชน์ในการสื่อความหมายได้ดี มีสีสรร และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้กว้างขวาง เพราะดึงดูดความสนใจได้ ภาพประกอบด้วย

  • บิตแมพ (Bitmaps) เป็นการเก็บรูปภาพเป็นพิกเซล แต่ละพิกเซลก็คือจุดเล็กๆ ที่แสดงเป็นสี การเก็บข้อมูลจะเก็บเป็นพิกเซล ดังนั้นรูปภาพแต่ละรูปจึงต้องเก็บข้อมูลจำนวนมาก ในการจัดเก็บจึงมีเทคนิคการบีบอัดข้อมูล เพื่อให้เล็กลง ผู้พัฒนาได้สร้างมาตรฐานการเก็บข้อมูลและบีบอัด เช่น .jpg .gif .tif .fax เป็นต้น
  • คลิปอาร์ต ในการสร้างสื่อประสมจำเป็นต้องมีรูปภาพประกอบ เพื่อความสวยงามและดึงดูความสนใจ เพื่อให้การสร้างสื่อประสมทำได้เร็ว จึงมีการเก็บรูปภาพเป็นห้องสมุดภาพ ที่เรียกมาใช้ได้ง่าย ภาพที่เก็บอาจเป็นภาพส่วนหลัง (Background) ภาพขอบ ภาพพื้น ที่ใช้ประกอบฉากหรือนำมาตกแต่ง ตลอดจนภาพที่ใช้เสริมรูปภาพต่างๆ
  • ภาพจากอุปกรณ์อินพุตต่างๆ เป็นภาพที่ได้จากกล้องถ่ายภาพดิจิตอลจากวีดิทัศน์ จากสแกนเนอร์ ฯลฯ
  • ไฮเปอร์พิกเจอร์ (Hyperpictures) เป็นภาพที่ปรากฏในสื่อประสมที่สามารถเชื่อมโยง หรือกระตุ้นให้เกิดการทำงานบางอย่าง เช่น เมื่อคลิกแล้วจะกลายเป็นวีดิทัศน์

เสียง (Sound)

เสียงเป็นส่วนประกอบสำคัญของระบบการนำเสนอแบบสื่อประสม เสียงทำให้บรรยากาศการรับรู้น่าสนใจ เช่น ในเกม ภาพยนตร์ ซีดี จะมีการบันทึกเสียงเป็นส่วนหลังเพื่อสร้างอารมณ์ต่างๆ ร่วมด้วย ลักษณะของเสียงประกอบด้วย

  • คลื่นเสียงแบบออดิโอ มีการบันทึกเป็น .WAV .AU การบันทึกจะบันทึกตามลูกคลื่นเสียง โดยมีการแปลงเป็นสัญญาณให้เป็นดิจิตอล เก็บในรูปแบบการบีบอัดเสียงเพื่อให้เล็กลง
  • เสียง CD เป็นรูปแบบบันทึกที่มีคุณภาพสำหรับการบันทึกลงบนแผ่น CDเพลงที่วางขายทั่วไป บันทึกตามมาตรฐานนี้
  • MIDI เป็นเสียงที่ใช้แทนเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ สามารถเก็บข้อมูล และให้วงจรอิเล็กทรอนิกส์สร้างเสียงตามตัวโน้ต เสมือนการเล่นของเครื่องดนตรีนั้นๆ
  • ไฮเปอร์ออดิโอ เป็นการนำสัญญาณเสียงไปกระตุ้นหรือผสมกับการทำงาน เพื่อการนำเสนอที่สลับซับซ้อนขึ้น

วีดิทัศน์ (Video)

วีดิทัศน์เป็นภาพที่มีการเคลื่อนไหวประกอบเสียง วีดิทัศน์เป็นรูปแบบการนำเสนอที่ให้รายละเอียดการเคลื่อนไหวเหมือนจริง ส่วนของวีดิทัศน์ประกอบด้วย

  • ดิจิทัลวีดิทัศน์ เป็นการนำสัญญาณวีดิทัศน์ เก็บในรูปการบีบอัด เพื่อให้เก็บได้เล็กลง มีการสร้างมาตรฐาน เช่น MPEG, AVI, MOV
  • สัญญาณถ่ายทอดสด เป็นการนำเอาสัญญาณวีดิทัศน์ จากการถ่ายทอดรายการจริง เชื่อมโยงการกระจายส่งไปยังปลายทางที่ต้องการ ในส่วนของวีดิทัศน์มีอุปกรณ์การประมวลผลหลายอย่างที่เข้ามาเกี่ยวข้อง

1.4 พีซีเพื่อการนำเสนอแบบสื่อประสม

พีซีในปัจจุบันมีขีดความสามารถที่ใช้ในการนำเสนอแบบสื่อประสมได้ อย่างไรก็ตาม ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทอรนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ได้นำเสนอข้อกำหนดพีซีสำหรับใช้งานทั่วไป ซึ่งรวมถึงการแสดงผลแบบสื่อประสมไว้ด้วย ข้อเสนอที่เสนอนี้จะปรับเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี สำหรับข้อเสนอของศูนย์ในปี พ.ศ. 2541 มีดังนี้

ระบบคอมพิวเตอร์ที่มีหน่วยประมวลผลกลาง ที่สนับสนุนการประมวลผลคำสั่งทางด้านสื่อประสม โดยมีความสามารถระดับอินเทลเพนเทียมที่ใช้เทคโนโลยี MMX ใช้สัญญาณนาฬิกา ความเร็ว 166 MHz มีหน่วยความจำหลักไม่น้อยกว่า 16 MB

สำหรับระบบเก็บข้อมูล มีฮาร์ดดิสก์สำหรับเก็บข้อมูลได้ไม่น้อยกว่า 2 GB มีซีดีรอมที่สามารถส่งผ่านข้อมูลที่ความเร็ว 20X โดยอัตรา 1X คือการส่งได้ 150 กิโลบิตต่อวินาที มีการ์ดแสดงผลกราฟิกส์ที่ความละเอียดไม่น้อยกว่า 640 x 480 จุด และแสดงสีได้ไม่น้อยกว่า 256 สี มีจอภาพพร้อมแป้นพิมพ์ และเมาส์

นอกจากนี้ต้องมีการ์ดแสดงผลเสียง ซึ่งแสดงผลเสียงได้ชัดเจน มีตัวรับเสียงเป็นไมโครโฟน และมีลำโพงเพื่อแสดงผลเสียง

1.5 การประยุกต์ใช้สื่อประสม

การประยุกต์ใช้สื่อประสมกว้างขวางมาก ตลาดของสื่อประสมจึงมีมาก เทคโนโลยีสื่อประสมสามารถประยุกต์ใช้งานในส่วนที่สำคัญหลายส่วน เช่น

  • การประยุกต์ในธุรกิจร้านค้าและอุตสาหกรรม ร้านค้าสามารถใช้สื่อประสมในการโฆษณา การสร้างคาตาล็อกแบบอิเล็กทรอนิกส์ ใช้ในเรื่องการติดต่อกับลูกค้า การฝึกอบรม การดำเนินธุรกิจในลักษณะการให้บริการแบบอัตโนมัติต่างๆ ตลอดจนประยุกต์ใช้กับกานำเสนอข้อมูลในรูปแบบที่น่าสนใจ
  • การประยุกต์ทางด้านการศึกษา สามารถประยุกต์ได้กว้างขวาง ตั้งแต่การเรียนการสอน การสร้างสื่อ การใช้เป็นห้องสมุด การพิมพ์หนังสืออิเล็กทรอนิกส์
  • การประยุกต์ในเรื่องนันทนาการ เทคโนโลยีสื่อประสมมีผลอย่างมากในการสร้าง ภาพยนตร์ การสร้างเกม การสร้าง ตลอดจนการนำเสนอในลักษณะที่มีปฏิสัมพันธ์
  • การประยุกต์ในวงการรัฐบาล สามารถนำไปใช้ในการให้บริการ การดำเนินการทางด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ การใช้ทางทหาร การกีฬา การสร้างงวิธีนำเสนอข้อมูลแบบต่างๆ
  • งานการแพทย์และสาธารณสุข งานการแพทย์ใช้ประโยชน์อย่างมากในเรื่องของการนำเสนอข้อมูล การเรียนการสอนทางด้านการแพทย์ การออนไลน์เพื่อให้การปรึกษาทางการแพทย์ ตลอดจนการดำเนินการที่เรียกว่า เทเลเมดิซีน
  • การสร้างแหล่งความรู้ เช่น สารานุกรม การสร้างห้องสมุด เพื่อให้บริการแก่ประชาชนในวงกว้างมากขึ้นการประยุกต์ใช้สื่อประสมมีวงกว้างขวางมากขึ้น สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆได้อีกมาก

1.6 ประโยชน์ของสื่อประสม

มัลติมีเดีย ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตของคนเรามากยิ่งขึ้น โดยมีประโยชน์ ดังนี้

  • เสนอสิ่งเร้าให้กับผู้เรียน ได้แก่ เนื้อหา ภาพนิ่ง คำถาม ภาพเคลื่อนไหว
  • นำเสนอข่าวสารในรูปแบบที่ไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับ เช่น บทเรียนมัลติมีเดีย
  • สร้างสื่อเพื่อความบันเทิง
  • สร้างสื่อโฆษณา หรือประชาสัมพันธ์

Hello world!

Posted: มิถุนายน 4, 2010 in Uncategorized

Welcome to WordPress.com. This is your first post. Edit or delete it and start blogging!